วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตำราพิชัยสงครามซุนวูกับการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ บทที่ 1

            ก่อนอื่นต้องขอแนะนำก่อนว่าอะไรคือ ตำราพิชัยสงครามซุนวู (Sun Tzu's The Art of War)
ตำราพิชัยสงครามซุนวูเป็นตำรายุทธศาสตร์ของจีนที่มีมาตั้งแต่สมัยยุคชุนชิว เขียนโดยซุนวู เกิดในตระกูลที่เป็นทหารของแคว้นฉี ซึ่งตระกูลซุนเป็นหนึ่งในสี่ตระกูลหลักของแคว้นฉีเลยทีเดียว ซุนวูมีชีวิตอยู่ในช่วงพระพุทธกาล ถ้าเทียบกับสามก๊กก็เป็นยุคก่อนสามก๊ก 600-700 ปี นับว่านานมากเลยทีเดียว และยิ่งไปกว่านั้นสามก๊กยังมีพื้นฐานของพิชัยสงครามซุนวูอีกด้วย


ตำราพิชัยสงครามซุนวูถูกยกย่องให้เป็น 1ใน7 พิชัยสงครามคลาสสิกของประเทศจีนอีกด้วย และได้มีการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก แม้แต่การรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พิชัยสงครามซุนวูก็ยังได้ถูกนำมาใช้ในสงคราม ถึงแม้ว่าอายุของวรรณกรรมชิ้นนี้จะมีอายุกว่า 2000-3000 ปีแล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยต่างๆได้เสมอ

พิชัยสงครามซุนวูมีทั้งหมด 13 บท คือ

  1. การประเมิน (始计) 
  2. การวางแผน (作战)
  3. ยุทธศาสตร์การรบรุก (谋攻) 
  4. ท่าที (军行) 
  5. กำลังพล (兵势) 
  6. ความอ่อนแอ-เข้มแข็ง (虚实) 
  7. การดำเนินกลยุทธ์ (军争) 
  8. สิ่งผันแปร 9 ประการ (九变) 
  9. การเดินทัพ (行军) 
  10. ภูมิประเทศ (地形) 
  11. พื้นที่ต่างกัน 9 อย่าง (九地) 
  12. การโจมตีด้วยไฟ (火攻) 
  13. การใช้สายลับ (用间)


         พิชัยสงครามซุนวูสามารถนำมาใช้กับการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดได้อย่างมาก กองทัพก็เหมือนบริษัท กองทัพต้องแข็งแกร่งขึ้นทุกวันเช่นเดียวกับบริษัทที่ต้องเติบโตขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในบทที่ 1 การประเมิน หรือ Initial Estimations (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแปลโดย Ralph D. Sawyer 1996) พูดถึงการวิเคราะห์สภาพภายในของกองทัพว่ามีศักยภาพเพียงเท่าใด

บทที่ 1 (ขอบคุณเว็บ thai samkok สำหรับเนื้อหาบทที่ 1)
อันสงครามนั้น เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ เป็นแหล่งแห่งความเป็นความตาย เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่หรือดับสูญ จักไม่พินิจ พิเคราะห์มิได้ ฉะนั้น พึงวิเคราะห์จากห้าเรื่อง นำมาเปรียบเทียบเพื่อประเมิน ให้ถ่องแท้ในสภานะการณ์
  1. คุณธรรม 
  2. ลมฟ้าอากาศ 
  3. ภูมิประเทศ 
  4. แม่ทัพ 
  5. กฎระเบียบ 
ที่ว่าคุณธรรมคือ สิ่งที่ทำให้ทวยราษฎร์และเบื้องบนมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ร่วมเป็นก็ได้ ร่วมตายก็ได้ ทวยราษฎร์มิหวั่นอันตราย  
ที่ว่าลมฟ้าอากาศ ก็คือ สว่างหรือมืด หนาวหรือร้อน ฤดูนี้หรือฤดูนั้น  
ที่ว่าภูมิประเทศ ก็คือ สูงหรือต่ำ ใกล้หรือไกล คับขันหรือราบเรียบ กว้างหรือแคบ เป็นหรือตาย 
ที่ว่าแม่ทัพ ก็คือ สติปัญญา ศรัทธา เมตตา กล้าหาญ เข้มงวด 
ที่ว่ากฎระเบียบ ก็คือ ระบบจัดกำลัง ระบบยศตำแหน่ง ระบบพลาธิการ 

ทั้งห้าเรื่องนี้ แม่ทัพพึงรู้แจ้ง ผู้รู้จักชนะ ผู้ไม่รู้จักไม่ชนะ ในสถานการณ์ กล่าวคือ เจ้านายมีคุณธรรมหรือไม่? แม่ทัพสามารถหรือไม่? ฟ้าดินอำนวยหรือไม่? วินัยเข้มงวดหรือไม่? กองทัพเข้มเข็งหรือไม่? ทหารฝึกดีหรือไม่? การรางวัลลงโทษแจ่มชัดหรือไม่? เรารู้ฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะได้จากนี้ แม่ทัพใดเชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักชนะ ให้เอาตัวไว้ แม่ทัพใดไม่เชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักแพ้ ให้ปลดออกไป เมื่อการประเมินผลดีเป็นที่รับฟัง ก็ให้สร้างพลานุภาพขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยแผนศึก ที่ว่าพลานุภาพ ก็คือการปฎิบัติการตามสภาพอันจะก่อให้เกิดผลนั่นเอง
อันสงครามนั้น คือการใช้เล่ห์เพทุบาย ฉะนั้น รบได้ให้แสดงว่ารบไม่ได้ จะรุกให้แสดงไม่รุก ใกล้ให้แสดงว่าไกล ไกลให้แสดงใกล้ ให้ล่อด้วยผลประโยชน์ ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกรานเมื่อไม่คาดคิด นี้คืออัจฉริยะของนักการทหาร อันจักกำหนดล่วงหน้ามิได้
การประเมินศึกในศาลเทพารักษ์ก่อนรบบ่งบอกชัยชนะ เพราะคำนวณผลได้มากกว่า การประเมินผลในศาลเทพารักษ์ก่อนรบบ่งบอกไม่ชนะ เพราะคำนวณผลได้น้อยกว่า คำนวณผลได้มีมากก็จะชนะ คำนวณผลได้มีน้อยก็แพ้ ถ้าไม่คำนวณก็จักไม่ปรากฏผล เราพิจารณาจากนี้ ก็ประจักษ์ในชัยชนะหรือพ่ายแพ้แล้ว

ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับการวางกลยุทธ์ของบริษัท ก็จะมีเนื้อหาคล้ายกับ SWOT ซึงเป็นการประเมินจุดต่างๆในบริษัท ก่อนที่เราจะทำการดำเนินการแข่งขันกับบริษัทคู่แข่ง

www3.cdd.go.th S - Strengths
W - Weaknesses
O - Opportunities
T - Threats

Strengths หรือ จุดแข็ง คือความสามารถของบริษัทที่ทำได้ดีที่สุดหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งนักวางกลยุทธ์ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

Weaknesses หรือ จุดอ่อน คือสิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรรคของบริษัทในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งเราต้องค้นหาจุดอ่อนของเราให้เร็วที่สุด เพื่อการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว

Opportunities หรือ โอกาส คือสิ่งที่อาจอยู่ในรูปของ trend  เหตุการณ์และแนวคิด ซึ่งเราจะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด (ยกตัวอย่างเช่น การทำเงินจากตุ๊กตาเฟอร์บี้ ในปี 2556)

Threats หรือ ภาวะคุกคาม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือการควบคุม อย่างเช่น ภาวะฟองสบู่แตกในไทย ซึ่งเราต้องวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดถึงเพื่อที่บริษัทจะได้สามารถดำรงอยู่ต่อไป


การประเมิน 5 สิ่ง คุณธรรม ลมฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ แม่ทัพ และกฏระเบียบ ก็จะคล้ายคลึงกับ SWOT เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ขององค์กรได้ทั้งภายในและนอก 

คุณธรรมหรือความเป็นธรรมในเชิงภายใน ก็คือ การปกครองของผู้บริหาร ว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ และลูกจ้างทั้งหมดที่ได้รับค่าตอบแทนในบริษัทมีแรงใจทุ่มเทในการทำงานหรือไม่ ในภายนอกก็อาจจะเป็น ลูกค้า ว่าเราปฏิบัติกับลูกค้าเราเป็นอย่างไร เราเอาเปรียบลูกค้าหรือไม่ บริษัทของเราดำเนินการขาวสะอาดหรือไม่

ลมฟ้าอากาศ สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในก็คือ ความเหมาะสม เช่น ถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในบริษัทจะส่งผลดีหรือไม่ ส่วนภายนอกก็จะเป็นเรื่องเกียวกับความเหมาะสมเช่นกัน เช่นเวลานี้ผู้คนมีพฤติกรรมในการซื้อของอย่างไร (สมมุติว่า เวลานี้ถ้าทุกคนคิดว่าต้องมีไอโฟน และพยายามเก็บเงินซื้อ เรายังควรขาย brand อื่นต่ออยู่หรือไม่)

ภูมิประเทศ ที่ตั้งของบริษัท ตำแหน่งของโต๊ะของแผนกต่างๆว่าสัมพันธ์กับหน้าที่การงานหรือไม่ อาจจะเป็น ฮวงจุ้ย ก็ได้ ถ้าเป็นร้านค้าก็จะต้องประเมินว่าที่ร้านค้าอยู่ในที่ๆคนผ่านไปมาเห็นได้ชัดหรือไม่ ถ้าร้านค้าอยู่ในเชิงสะพานก็จะสามารถเห็นได้ยากและทำให้ร้านค้ามียอดขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แม่ทัพ ก็คือผู้บริหารหรือผู้นำของบริษัทในด้านต่างๆ ว่ามีความพร้อมในการทำงานหรือไม่ มีความกะตือรือร้นหรือไม่ เป็นคนเปิดรับความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ มีความยุติธรรมหรือไม่

กฏ ก็คือระเบียบวินัยของบริษัท เช่นพนักงานของคุณเป็นคนรักษาวินัยหรือไม่ พนักงานมีการฝึกฝนเพื่อการพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าสม่ำเสมอหรือไม่



สุดท้ายถ้าเราวิเคราะห์ออกมาแล้วบริษัทของเรามีคะแนนการประเมินเป็นในทางที่ดีบริษัทของเราก็จะมีแน้วโน้มในการเติบโตในตลาดมากขึ้น ถ้าไม่ดีก็ควรปรับปรุงแก้ไขให้เร็วที่สุดก่อนที่จะสายเกินไป...


credit ข้อมูลภาพจาก th.wikipedia.org/wiki/ตำราพิชัยสงครามของซุนวู‎, www3.cdd.go.th

ไม่มีความคิดเห็น: